ข่าวสารและความเคลื่อนไหว องคมนตรีตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ภายใต้ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ประจำปี 2567 คณะครุศาสตร์พฤษภาคม 24, 202401.4K views วันที่ 23 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.30 น. พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ โดยมีนายพิจิตร บุญทัน ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พล.ต.ชินวิช เจริญพิบูลย์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 25 พล.ต.ต.สุคนธ์ ศรีอรุณ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุรินทร์ พ.อ.จิรัฏฐ์ ช่วงฉ่ำ รองผู้บัญาการกองกำลังสุรนารี นายถนอม อินทรกำเนิด ประธานบุคคลปฏิบัติหน้าที่แทนสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ รศ.ดร.ฉลอง สุขทอง อธิการบดี คณะผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ร่วมให้การต้อนรับ ณ อาคารฝึกประสบการณ์วิชาชีพล้านช้าง มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ในการนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ได้รายงานผลการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ประจำปี 2567 ได้แก่ การขับเคลื่อนงบพื้นฐานของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ที่ครอบคลุมกระบวนการ วิธีการขับเคลื่อน โครงสร้างการบริหารโครงการ งบประมาณ พร้อมทั้งตัวชี้วัดความสำเร็จของการดำเนินโครงการ การยกระดับภาษาอังกฤษให้กับนักศึกษา โมเดลผลิตครูของมหาวิทยาลัยราชภัฏ (Professional Teacher Rajabhat University : PTRU Model) และการขับเคลื่อนกิจการนักศึกษา ทั้งนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ได้นำเสนอผลงานการจัดการศึกษาเพื่อการกีฬาของคณะครุศาสตร์ จำนวน 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพลศึกษา และหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา ซึ่งเป็นหลักสูตรที่นักเรียนสนใจเข้าศึกษาเป็นจำนวนมากในการรับสมัครแต่ละปีการศึกษา ซึ่งทั้ง 2 หลักสูตรมุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความเป็นเลิศด้านวิชาการและด้านการกีฬา สามารถประกอบอาชีพที่หลากหลาย อาทิ ครู ผู้ฝึกสอนกีฬา นักกีฬาอาชีพ ผู้ตัดสินกีฬา และผู้นำออกกำลังกาย เป็นต้น โดยการจัดการเรียนการสอนและฝึกปฏิบัติที่มุ่งเน้นการดึงศักยภาพเฉพาะตัวของนักศึกษา พัฒนาสมรรถนะทั้งร่างกายและจิตใจ ผ่านสื่อ อุปกรณ์ สิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ เทคโนโลยีทางการกีฬาที่ทันสมัย การดูแลบ่มเพาะจากอาจารย์ผู้สอนด้วยกิจกรรมเสริมหลักสูตร การบริหารชุมชน กระบวนการวิศวกรสังคม การฝึกประสบการณ์จากสถานประกอบการ โรงเรียนเครือข่ายร่วมผลิตทั้งในและนอกจังหวัดสุรินทร์ และได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายทางกีฬาทั้งภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น นอกจากนี้นักศึกษาจาก 2 หลักสูตรยังเป็นตัวแทนนักกีฬาในระดับมหาวิทยาลัย ระดับจังหวัด และระดับประเทศในหลายชนิดกีฬา ได้รับรางวัลจากการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย การแข่งขันกีฬาแห่งชาติ กีฬาเอเชียนเกมส์ และเป็นตัวแทนนักกีฬาทีมชาติไทยเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2024 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส กลางปีนี้ อีกทั้งยังได้นำเสนอผลงานการผลิตนักศึกษาครูวิทยาศาสตร์ของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเป็นกิจกรรมพัฒนาสมรรถนะ ได้แก่ 1) กิจกรรมพัฒนาครูด้วยการบริการวิชาการสู่โรงเรียนด้วยห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ Mobile Science to School (MSS) เป็นการยกห้องแลปไปยังโรงเรียนในพื้นที่ จ.สุรินทร์ และจังหวัดใกล้เคียง เช่น บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด ที่ขาดแคลนอุปกรณ์ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และเป็นการฝึกทักษะนักศึกษาครูในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบ Active Learning ผ่านรถ MSS 2) กิจกรรมการพัฒนาครูฟิสิกส์ด้วยห้องปฏิบัติการเสมือนจริงแบบ 3 มิติชื่อ “ปฏิบัติการการหาค่าประจุต่อมวลของอิเล็กตรอน” ซึ่งมีเพียงที่เดียวในประเทศ ถูกสร้างขึ้นโดยอาจารย์ประจำหลักสูตรฟิสิกส์เพื่อจำลองห้องปฏิบัติการจริงที่มีราคาสูงและมีจำนวนจำกัด โดยนำมาใช้บริการวิชาการให้กับครูและนักเรียนจากโรงเรียนเครือข่ายในการปฏิบัติการฟิสิกส์ในระดับมัธยมปลาย และเป็นห้องปฏิบัติการที่ตอบสนองการเรียนรู้ในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างดีเยี่ยม 3) กิจกรรมครูวิทยาศาสตร์กับกิจกรรมดาราศาสตร์ โดยเป็นการผลิตครูวิทยาศาสตร์มีความรู้และทักษะในการใช้เครื่องมือการสอนที่เหมาะสม เช่น แผนที่ดูดาวเป็นเครื่องมือที่มีประโยชนในการสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียน ช่วยในการเรียนรู้เกี่ยวกับดาราศาสตร์ การเคลื่อนที่ของดาว ระบบดาวเคราะห์ ภาพรวมของจักรวาล และสามารถสร้างเครื่องดูดาวแบบง่าย เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนที่น่าสนใจให้แก่นักเรียน 4) กิจกรรมเสริมทักษะครูชีววิทยาด้วยกิจกรรมเทคนิคทางชีววิทยา โดยเป็นการฝึกให้นักศึกษาครูเตรียมตัวอย่างเพื่อศึกษาเซลล์และเนื้อเยื่อของพืชในท้องถิ่น วิธีการเตรียมเนื้อเยื่อพืชเพื่อใช้ในการศึกษาภายใต้กล้องจุลทรรศน์ ซึ่งเป็นเทคนิคพื้นฐานทางชีววิทยาที่นักศึกษาทุกคนต้องมีความเชี่ยวชาญ และ 5) กิจกรรมครูเคมีกับผลิตภัณฑ์ธรรมชาติในท้องถิ่น โดยนักศึกษานำความรู้ในการเรียนรายวิชาเคมี อาทิ วิชาเคมีสู่อาชีพ เคมีผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เคมีสีย้อม มาประยุกต์ใช้ในการศึกษาพืชและวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่นเพื่อมาใช้ในการทำวิจัยในรายวิชาโครงการวิจัยทางเคมี สามารถนำองค์ความรู้ไปต่อยอดในวิชาโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และนำนวัตกรรมทางการศึกษาไปใช้ในการแก้ปัญหาในชั้นเรียน